เงิน แยกเป็น 2 อย่าง
เงินอย่างแรก - ให้นิสิตเปิดกระเป๋าตังค์ออกมาวางบนโต๊ะ เมื่อถึงเวลากินข้าวซื้อของ เอาไปใช้ได้นั่นแหละเงินที่จำเป็นต่อในชีวิตประจำวัน
เงินอย่างที่สอง - คือตัวเลข เช่น เงินฝากประจำ หุ้น พันธบัตร อัตราดอกเบี้ย ค่าเงิน ฯลฯ สิ่งนั้นคือตัวเลข ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามปัจจัยตัวแปร
ท่านสอนต่อว่าในการบริหารการเงินแล้วให้คิดเสมอว่าเป็นเสมือน inventory model อธิบายให้ง่ายคือ เงินเข้าและเงินออกเหมือนน้ำในตุ่ม น้ำไม่ต้องมีเต็มตุ่มแต่น้ำเข้าและน้ำออกต้องให้สมดุลกัน และน้ำที่เหลือก้นตุ่มคือ safety stock ซึ่งท่านว่าเป็นเสมือน เงินกันชนที่เรามีไว้ใช้ในยามฉุกเฉินต่าง ๆ นานา ตามความจำเป็นของแต่ละคน ซึ่งผมจะลงรายละเอียดเพิ่มในบทความต่อ ๆ ไป
เมื่อเราเข้าใจความจำเป็นของ Safety Stock หรือ เงินก้นตุ่มแล้ว โดยแนวคิดหลักก็คือ หากน้ำเหือดตุ่มก็ไม่ดีเพราะหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินขึ้นมา (คำว่าความจำเป็น-แต่ละคนก็ไม่เท่ากัน) ก็ไม่พอ ถ้าน้ำท่วมตุ่มหรือล้นตุ่มก็ไม่ดี จะเป็นการสร้างนิสัยฟุ่มเฟือย spoil เกินความจำเป็น
ถ้าเรามีเงินเหลือเราควรเริ่มต้นในการแปลงเงิน จากเงินธรรมดา ให้กลายไปเป็นเงินทำงาน การเก็บเงินไว้เฉย ๆ ไม่เสียไม่เน่าก็จริง แต่มันจะด้อยค่า ทำไม? เพราะอิทธิพลของเงินเฟ้อ ไม่ต้องคิดอะไรมาก สมัยก่อน 25 บาท ทานข้าวกลางวันได้ ปัจจุบัน 35 บาท ไม่รวมน้ำ นั่นคือเงินมันด้อยค่าโดยตัวของมันเอง เมื่อเริ่มต้นแบบนี้แนวคิดจะขยายความว่าทำอย่างไร? จึงจะเอาชนะเงินเฟ้อได้ คำตอบก็คือเราควรลงทุนในธุรกิจที่มีนวัตกรรม มีความสามารถในการสร้างเงินสดอย่างสม่ำเสมอในระยะยาวจึงเอาชนะเงินเฟ้อได้ และนั่นก็คือเหตุผลที่เราควรมีเงินสดเท่าไร ดังวอร์เรน บัฟเฟตต์ ให้เหตุผลกรณีนี้ไว้น่าฟัง
"เรื่องนึงที่ผมอยากจะบอกพวกคุณทุกคนไว้ การเก็บเงินไว้เฉย ๆ มันเป็นการลงทุนที่แย่มาก ผมได้ยินคนที่บอกว่า เงินคือพระเจ้า (Cash is King) แท้จริงแล้ว เงินมันด้อยค่าของมันทุกวัน แต่ธุรกิจชั้นดีต่างหากที่สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกวัน ในราคาที่เหมาะสมไม่ใช่สูงเกินไปคุณต้องมีหลักการที่ถูกต้องในการลงทุน เลือกธุรกิจที่ดีและอยู่กับมัน
ผมก็มีเงินครับ คุณก็มีเช่นกัน ผมคุ้นชินกับการเก็บเงินไว้บ้างไม่งั้นถ้าไม่มีเงินเลยผมคงนอนไม่หลับ แต่ผมคงไม่ลงทุนในเงินฝากธนาคาร ยังไงก็เป็นทางเลือกที่แย่ที่สุด
ความจำเป็นของแต่ละคนไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน มีเงินไว้ตาม "ความจำเป็น" ของคุณ นั่นเป็นบทสรุปว่าเราควรจะมีเงินเก็บไว้เท่ากับเท่าไร?"
"The one thing I will tell you is the worst investment you can have is cash. Everybody is talking about cash being king and all that sort of thing. Cash is going to become worth less over time. But good businesses are going to become worth more over time. And you don’t want to pay too much for them so you have to have some discipline about what you pay. But the thing to do is find a good business and stick with it. We always keep enough cash around so I feel very comfortable and don’t worry about sleeping at night. But it’s not because I like cash as an investment. Cash is a bad investment over time. But you always want to have enough so that nobody else can determine your future essentially."
ในความเห็นผม คำว่า "เงินคือพระเจ้า" เป็นคำกล่าวที่เกินจริง และทำให้หลายคนใช้ชีวิตผิดแผก ฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย และกลายเป็นทาสเงิน อิสระทางการเงินที่แท้จริงคือเราไม่เป็นทาสเงินครับ การที่จะมีเงินไว้มากน้อยเท่าไร ผมสรุป ดังนี้
1. เราควรมีเงินสดไว้มากพอในความจำเป็นของเราไม่เดือดร้อน
2. หากเกินจากนั้น จะกลายเป็นการเก็บหรือการออม ถ้าเป็นการออมแล้ว เราควรพิจารณาลงทุนในบริษัทแข็งแกร่ง มีนวัตกรรม และเติบโตระยะยาว สร้างกระแสเงินสดสม่ำเสมอและไม่แพ้เงินเฟ้อ
นี่น่าจะเป็นบทสรุปที่ถูกต้องกว่า
คำ ๆ เดียวที่ผมจะบอกก็คือ "เงินไม่ใช่พระเจ้าของผมอีกต่อไป" และนั่นคืออิสระทางการเงินที่แท้จริง