วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เจ็ด-จง จำไว้รวย

จง-๑) จงมองหุ้นเป็นธุรกิจ มองตัวเราเองเป็น บริษัทโฮลดิ้งคอมปะนี เป็นเจ้าของบริษัทที่เราซื้อเข้ามาไว้ในพอร์ทลงทุน ติดตามผลการดำเนินงานและประเมินเหมือนกับเป็นเจ้านายของบริษัทเหล่านั้น เสมอ

จง-๒) จงเป็นนักต่อรอง อย่าหลงคารม อย่าเชื่อใจผู้บริหารบริษัท โอกาสในตลาดหุ้นมีเป็นร้อยหมื่นพันครั้ง ตลาดหุ้นตกแบบคอเร็คชัน (correction) ประมาณ ๑๕ - ๒๐ เปอร์เซนต์มีทุกปี และตลาดตกแบบ ๔๐-๕๐ เปอร์เซนต์สัก สามถึงห้าปีก็จะมีบ้างเช่นกัน ดังนั้นไม่ต้องรีบ แต่ให้ติดตาม และประเมินอยู่ตลอดเวลา

จง-๓) จงมีเงินสด เดินทางด้วยทางสายกลาง รีบรวยโดยการซัดหมดพอร์ต จะเป็นเส้นทางตกเหวเสียมากกว่า หลายคนมองว่าการถือหุ้นร้อยเปอร์เซนต์เป็นเรื่องที่ดี ดีจริงครับ แต่เสียโอกาส โอกาสอะไร โอกาสในการเข้าซื้อเวลาหุ้นตก และหลายคนมองว่าการถือเงินสดตลอดเวลาเป็นเรื่องดี ผมกลับมองว่า ทางสายกลางเป็นเรื่องที่ดี ยามตลาดตกมีเงินสดไว้บ้าง ๑๕ - ๒๐ เปอร์เซนต์ของพอร์ต ตลอดเวลา เป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะจะไม่ทำให้เรากระวนกระวาย และบีบคั้นให้เราต้องตัดสินใจทำสิ่งที่เราไม่อยากทำ เช่น ขายหุ้นในเวลาไม่เหมาะสมเพราะต้องเอาเงินไปจ่ายค่าพยาบาลพ่อแม่

จง-๔) จงตั้งบิด (bid) ผมไม่เคาะขวา ไม่ใช่เกี่ยงราคา แต่เป็นการเกี่ยงจิตใจ ให้เราเน้นการรอคอย กำลังเงิน ความแม่นยำซื้อถูกจุดถูกจังหวะหรือไม่ ไม่สำคัญเท่าการรอคอย คนที่จะอดทนรอคอยเรื่องหนึ่งเรื่องใดได้ จะต้องเป็นคนที่จิตใจเข้มแข็งถูกฝึกมาเป็นอย่าดี รอคอยไม่เป็นเท่ากับเปิดหน้าให้คู่แข่งชก คุณทนได้ไม่นานหรอก

จง-๕) จงมีหุ้น ไม่ว่าสถานะการณ์จะเลวร้ายเพียงไหน การกดปุ่มหนึ่งปุ่ม หรือโทรหามาร์หนึ่ง กริ๊ก แล้วสั่ง "ล้างพอร์ต" เป็นการตัดสินใจที่สิ้นคิด คุณจะลดพอร์ตเพิ่มพอร์ต ได้เสมอ แต่จงอย่าตัดสินใจ ล้างพอร์ต คำ ๆ เดียว แล้วบอกว่าสบายใจละ เป็นการตัดสินใจที่ผิดมากที่สุดเรื่องหนึ่งในตลาดหุ้น

จง-๖) จงกระจายความเสี่ยง อย่ารักหุ้นตัวใดตัวหนึ่งจนหมดใจ ถือตัวเดียวทั้งพอร์ต อย่ากระโดดอัดเข้าตัวใดตัวหนึ่งอย่างแรง อย่าทิ้งตัวอื่นแบบไร้เหตุผลซัดหมดเงินตัวเดียว ไม่มีโฮลดิ้งคอมปะนี ไหนในโลกทำอย่างนั้น แต่จงจัดน้ำหนักของพอร์ตไปในหุ้นรายตัวให้เหมาะสม

จง-๗) จงอย่าไปสนใจนำผลตอบแทนของตนเองเทียบกับผลตอบแทนของคนอื่น ปีเตอร์ ลินซ์ กล่าวไว้ว่า หุ้นขึ้นไม่ได้แปลว่าคุณถูก หุ้นลงไม่ได้แปลว่าคุณผิด ในโลกมายาโซเชียลเน็ตเวิร์ค นี้ จะรู้ได้อย่างไรว่าใครจริง ใครไม่จริง สิ่งที่เราควรเปรียบเทียบคือ สินทรัพย์สุทธิของเราปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่เพิ่มมา เปรียบเทียบกับ มูลค่าตลาดปีนี้และปีที่แล้วที่เพิ่มขึ้นมาหรือถ้าจะง่ายเข้า เอา ดัชนี SET ก็ได้เปรียบเทียบกัน ถ้าดีกว่าแสดงว่าเก่งกว่าตลาด ถ้าแย่กว่าก็ลองเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ย คิดเล่น ๆ ว่าหากเอาเงินไปเทียบกับเงินฝาก จะได้เท่าไร ? นี่เราลงทุน แล้วได้เพิ่มมามากกว่าอัตราดอกเบี้ย ดีตั้งเท่าไร?

เด็กผู้ชายไม่ร้องไห้ - ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ตลาดหุ้นไม่มีอยู่จริง

เมื่อเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาหยิบหนังสือ Passport to Profit ของ ดร.โมเบียสมานั่งอ่านแล้วดูโน๊ตที่ผมเองได้จดไว้พบว่า อ่านหนังสือเล่มนี้มาน่าจะได้ 3 ปีแล้วนะยังไม่จบเลย เหลืออีก ร้อยกว่าหน้า อ่านหนังสือ ดร.โมเบียส แล้วก็พาลคิดไปถึงท่าน เซอร์จอห์น เทมพลีตัน

และก็คิดถึงวาจาอมตะของท่านว่า 

"เวลาที่ดีที่สุดของการซื้อหุ้นคือเวลาที่เลือดนองพื้น" แต่ท่านเซอร์ท่านลงรายละเอียดมากขึ้นว่า
"แม้ว่าเลือดนั้นเป็นเลือดของตัวเราเอง"

อืมม์ หลายครั้งหลายหน สิ่งที่ผมจะพยายามทำอย่างมากคือหนีจากหมี แล้วหลายหนก็โอเคหนีได้

แต่ครั้งนี้กะว่าไม่เอาละ คิดหลายอย่างไม่ใช่ไม่พยายาม ก็สังหรณ์ใจ แต่ไม่เอาละ ไม่หนีละ ดูมัน คือดูใจเราด้วยหล่ะ

ผลลัพธ์ จนถึงวันนี้ "เละ" 555 สมใจอยากมั๊ยล่ะ

น้องหลายคนนี่หัวเราะใส่เลย ผมบอกแล้วพี่ไปไม่รอดหรอกน่า ฮ่าฮ่าฮ่า ก็เล่นหุ้นในก๊วนเดียวกันน่ะแหละ

เป็นวีไอสมใจอยากมั๊ยหล่ะ

หมดเบนซ์ไปกี่คันล่ะพี่ ฮ่าฮ่าฮ่า 

เจ็บ พวกเอ็งน๊า พี่ไม่อาฆาต แต่จำนาน

ไม่มีอะไร แค่รู้สึกดีสำหรับวันนี้สำหรับตัวเอง เพราะคิดว่าแม้สักครั้งในชีวิตถ้าไม่ลงมือทำหรือไม่ลองทำดู การถือหุ้น 100% ผ่านวิกฤต 
ซึ่งจะผ่านมั๊ย ไม่รู้ ก็คงเป็นเรื่องที่ฟังแล้ว ทฤษฎีอย่างมาก ที่สำคัญ ถ้าเราขายหุ้นออกไปก่อนแล้วหุ้นลง แน่นอน ร้อยละร้อยเราคงรู้สึกดี แต่

แต่ผมมีเหตุผลบางประการที่ผมจะไม่ทำแบบนั้น ดังนี้

1. ตลาดทำถูกต้องจริงหรือไม่? ในทางสถิติแล้วเราเดาทางตลาดไม่ได้การคาดการณ์ตลาดเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ไม่มีสูตรวิเศษ เพราะถ้ามีจะมีคนรู้ยิ่งในยุคดิจิตอลแบบนี้
ถ้ามีใครทำได้ จะทำได้กันหมด และตลาดหุ้นจะไม่มีอีกต่อไป
2. หุ้นของเราได้รับผลกระทบจริงหรือไม่? พิจารณาให้ครบถ้วนแล้ววิเคราะห์จริง ๆ ว่า ธุรกิจของเรานั้นได้รับผลกระทบจากหุ้นตกจริง ๆ หรือไม่ 
ถ้าเรารู้จักธุรกิจเราดี เราน่าจะวิเคราะห์มุมนี้ออก นั่นหมายถึง เราน่าจะ "ถูก" มากกว่า "ผิด"
3. เราจนลงจริงหรือไม่? อยากวิเคราะห์ให้ดี ๆ ยกตัวอย่าง ปัจจุบันคุณมีที่อยู่ 10 ไร่ มีอยู่ราคาที่สูงขึ้นจาก 1 ล้านบาท เป็น 2 ล้านบาท วันดีคืนดี คนข้าง ๆ ขายที่ไปในราคา 1.5 ล้านบาท เค้าได้เงินไป เราต้องเศร้าใจหรือไม่? ลองคิดดี ๆ

ถ้าวิเคราะห์ 3 มุมด้านบนเสร็จแล้ว ผมอยากให้อีกมุมนึง เป็นมุมที่ 4

ถ้าขายหุ้นไปแล้วคุณจะกลับมาซื้อมันอีกทีหรือไม่? คนส่วนใหญ่บอกใช่ครับผมจะกลับมาซื้อมัน คำถามต่อมา คุณจะซื้อมันราคาไหน

1. ราคาที่ถูกกว่าที่คุณขายไป - ไม่มีทางเพราะมันจะลงต่ำกว่านั้นคุณจะกลัว และหากซวยซ้ำซ้อน มันลงอีก คุณต้องขายมันอีกครั้ง
2. ราคาที่คุณขายไป - เดี๋ยวมันเด้งลงอีกหน คุณจะตามไปขายมันอีก พร้อมกับสบถ มารดามันเอ๊ย ไม่น่าซื้อคืนกลับมาเลย
3. ราคาที่สูงกว่าที่คุณขายไป - ชิหายละ มันขึ้นสวน เอาไงดี ขาดทุนส่วนต่าง จำนวนหุ้นหายไป เอาไงดี
4. เปลี่ยนไปซื้อตัวอื่น - นี่ยิ่งหายนะ
5. ไปซื้อตัวที่ลงมากกว่า - นรก มีจริงแน่นอน

เพื่อนเอ๋ย บทสรุปแห่งการลงทุนของผมนะวันนี้ มีแน่นอน มันสรุปเป็นคำพูดสั้น ๆ แค่ประโยคเดียว สำหรับนักลงทุนอย่างผม
ประโยคเดียวของการลงทุนคือ

"ตลาดหุ้นไม่มีอยู่จริง"

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

จตุรเทพแห่งการลงทุน

(โดย อ. IMERLOT, คุณชัยธร ช่วยสรุป, เด็กผู้ชายไม่ร้องไห้ ตั้งคำถาม)

อ.IMERLOT แห่ง thaivi ได้ตั้งหัวข้อกระทู้เรื่อง 10 Questions to Ask Before You Buy a Stock 


อ้างอิงจาก link http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=1&t=57526

 

กระทู้นี้เป็นกระทู้ที่ทรงคุณค่า ทางวิชาการและการพิจารณ์ อย่างมาก ที่สำคัญคือมีการวิเคราะห์ถึงแก่นแห่ง สี่จตุรเทพการลงทุนในพอร์ต ของ บัฟเฟตต์ และชาร์ลี มังเกอร์ อันประกอบ ด้วย Coke, Amex, Well fargo และ Geico

 

ผมเองมีส่วนในการตั้งคำถามหลายคำถาม และได้ อ. IMERLOT ท่านช่วยวิเคราะห์ เสาะหา ตลอดจนตอบคำถามไว้หลายอย่าง ด้วยความรอบรู้ในระดับสูง ตลอดจนได้คุณ chaitorn มาช่วยสรุป แบบกระชับ รวบยอดความรู้อย่างมาก และยังมี เพื่อนนักลงทุนอีกหลายท่านเช่น คุณไกล่เกลี่ย มาช่วยออกความเห็นเพิ่มเติมในตอนท้าย ๆ

 

ยิ่งผมยิ่งอ่านซ้ำในกระทู้นี้มากขึ้นและมากขึ้น ผมบอกได้เลยว่า มันเป็น “หัวใจของการลงทุน” ที่สำคัญและเป็นตำราการลงทุนที่ดีมาก เพื่อเป็นแนวทางให้นักลงทุนในรุ่นหลัง ๆ สืบไป ผมแนะนำให้อ่านอย่างสูงครับ

 

ด้านล่างเป็น บทสรุป เบื้องต้น แต่ผมคิดว่าเป็นบทคัดย่อแห่งบทความในกระทู้นี้ โดยคุณ chaitorn แห่งเวปไทยวีไอ ขอขอบคุณคุณชัยธรอย่างสูงครับ

.........................................


สรุปถึงตอนนี้ทั้งหมด ซึ่งสะท้อนการลงทุนของ VI สาย บัฟเฟท ที่เน้นการลงทุนใน model ยุคของหุ้นที่เป็น Great Company โดยเริ่มมีการลงทุนที่ให้ความสำคัญในแนวทางดังกล่าวประมาณปี 1988 โดยมีการทดลอง Model ก่อนหน้าในการซื้อหุ้น Geico ในช่วงยุคแรกที่ใช้แนวคิดแบบ เกรแฮม ที่เน้นหนักเฉพาะหุ้นราคาถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริง 
โดยแนวคิดดังกล่าวมีประเด็นดังต่อไปนี้ที่เราได้คุยกันในหลายกระทู้

1. เราต้องมีความเชื่อก่อนว่า ผลของราคาหุ้นระยะยาว มาจากเหตุ และเหตุที่จะทำให้ราคาหุ้นในระยะยาวมีราคาสูงต่อเนื่อง และยั่งยืนได้ คือ พื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือการทำกำไรที่สูงและต้องมีการเติบโตของกำไรอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องในระยะยาวด้วย จึงจะทำให้มูลค่าหุ้นที่แท้จริงในระยะยาวเติบโตตามไปเรื่อย ๆ ตามศักยภาพของการทำกำไรในอนาคตระยะยาว และทำให้เราสามารถถือหุ้นที่คัดสรรเชิงคุณภาพดังกล่าวในระยะยาวได้ เพราะมูลค่าหุ้นในระยะยาวมันยังเพิ่มสูงขึ้นด้วยตามเวลาที่เราลงทุน ซึ่งหุ้นหรือบริษัทที่เราคัดสรรจะต้องมีเคล็ดลับที่สำคัญคือต้องเป็นบริษัทที่มี moat หรือคูเมืองที่เข้มแข็ม ยิ่งคูเมืองฝังลึกในระยะยาวเพียงใด ยิ่งกันข้าศึกได้สูงมากเพียงใด และยิ่งสะท้อนกำไรที่เติบโตสูงต่อเนื่องในระยะยาวมากเพียงใด ก็จะยิ่งทำให้การลงทุนของเราหุ้นนั้นมี runway ระยะยาวให้เราได้ลงทุนต่อเนื่องระยะยาวได้ตามนั้นอีกด้วยโดยไม่ต้องเปลี่ยนตัวหุ้นลงทุนเหมือนยุคแรก ๆ เพราะพื้นฐานหุ้นในระยะยาวของหุ้นที่เราลงทุนมันไม่เปลี่ยนได้โดยง่ายนั้นเอง


2. พื้นฐานของหุ้นขึ้นกับ Business model ซึ่งไม่เหมือนกันแต่ขึ้นกับอุตสาหกรรมของหุ้นหรือกิจการที่เราลงทุนนั้นๆ สิ่งสำคัญที่เป็นตัวจำแนก หรือ ตัวกำหนดความแตกต่าง และเราต้องหาให้เจอ นั้นคือ Key Variable ที่เป็น Key success ของความสำเร็จขององค์กรนั้น ๆ ประกอบด้วย 

2.1 ความสำเร็จของผู้นำธุรกิจในด้านต้นทุนที่ต่ำสุด ซึ่ง เราได้เห็น บริษัท commodity business เช่น บริษัทประกันภัยGeico มี model ธุรกิจแบบหมอผ่าตัดมะเร็งร้าย กล่าวคือ เป็นธุรกิจที่ตัด Logistics cost ที่ไม่จำเป็นออกไปให้มากสุด เช่น ไม่มีค่าcom ให้กับนายหน้าประกันภัยแบบการขายดั้งเดิมที่ผ่านตัวแทน ทำให้สามารถกำหนดราคาเบี้ยประกันภัยแบบลดสุด ๆ จนยากที่คู่แข่งจะแข่งขันได้ แม้ว่าบริษัทจะมีการโฆษณาสูงกว่าคู่แข่งขันหลายเท่าก็ตาม ซึ่ง Model แบบนี้ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นถึงการเติบโตของธุรกิจที่ยาวนานได้ จนเป็นผู้นำในธุรกิจอันดับ 2-3 ในอุตสาหกรรมประกันภัย ตลอดจนเราได้เห็น Model ของ ธุรกิจปั้มน้ำมัน 2 แห่งที่ติดกัน ซึ่งจะพบว่าแม้จะเป็นปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งที่วางกลยุทธ์ที่ดีมากจนลูกค้ามาใช้บริการมากขึ้น แต่คู่แข่งก็กลับไม่ตอบโต้ยอมให้ปั้มที่ติดกันขายได้ดีต่อเนื่องต่อไป

2.2 เราได้เห็น Business model แม้จะเป็น บริษัท commodity business ได้แก่ bnsf railway ซึ่งใช้โมเดล toll bridge สะพานเก็บค่าผ่านทาง ซึ่ง โมเดลนี้ ไม่ใช่ จะสำเร็จได้ง่าย ต้องเข้าปัจจัยสนับสนุนหลายอย่างที่เหมาะสม

2.3 เราได้เห็น Business model ซึ่งถือเป็น Superstock ที่เป็นบริษัทที่มี BRAND ระดับโลกที่เข้มแข็ง แบบ Coke ว่า ธุรกิจเขามี Runway ยาวขนาดไหน Key Variable ที่สำคัญของธุรกิจนี้อยู่ที่ ปริมาณการดื่มต่อคนต่อวัน ของประชากรโลก และการเป็นสินค้าที่สามารถขายไปทั่วโลกได้ โดยอาศัย Brand และ รสชาดที่อยู่ในใจของ คนหลายเชื้อชาติ หลายประเทศ จำนวนหลายพันล้านคน โดยการสำรวจพบว่า Brand ของ Coke มีมูลค่าสูงติดอันดับ 1-3 ในรอบ 2003-2013 และยังสามารรถขยายการจำหน่ายไปยังประเทศที่มีพลเมืองสูง ที่สะท้อนความสำเร็จของ coke ในประเทศจีน แม้ประเทศจีนจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ copy ผลิตภัณฑ์ได้ทุกอย่าง และเป็นสมรภูมิการแข่งขันที่รุนแรงมากของหลายธุรกิจ ซึ่งแม้แต่บริษัทธุรกิจของอเมริกาที่เข้าไปจำหน่ายในประเทศจีนก็ประสบความล้มเหลวมาแล้วจำนวนมากก็ตาม

2.4 เราได้เห็น Business model ของบัตรเครดิต คือ Model Closed Loop ซึ่งช่วยสร้างกำไรมากมายให้กับAMEX ที่ คุณ chaitorn ได้เปรียบเทียบแนวทางการดำเนินธุรกิจได้ชัดเจนว่า เหมือน IOS ของ apple นั้นเอง 

แต่ยังมีจุดอ่อนของ AMEX ที่ต้องปรับปรุงโดยเฉพาะ Brand ซึ่งผลการสำรวจตกอันดับลงมามาก แต่ก็ยังอยู่เป็น top 20s Brand ชั้นนำอยู่
2.5 เราได้เห็น Business model ของ Well Fargo หุ้นธนาคารชั้นนำในอเมริกา ซึ่งอายุยาวนานกว่า 100 ปี แล้ว แต่ก็ยังสามารถพัฒนาจนใกล้เคียงกับธนาคารสมัยใหม่ ที่มี รายได้ non-interest income มากกว่า 40% และยังมีแนวโน้มการเติบโตของรายได้ส่วนนี้ เป็นเลข 2 หลัก หรือ double digit และ มีมูลค่า Port ของธนาคารที่สร้างรายได้จากการลงทุนกว่า 2แสนล้านเหรียญ ซึ่งมากกว่าบริษัท Berkshire Hathaway Inc ของ บัฟเฟทด้วย


3. เราได้ชี้ให้เห็นว่า พื้นฐานของธุรกิจที่สำคัญนั้น เราต้องดูปัจจัยสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงของ พฤติกรรมผู้บริโภคให้ออก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ชี้เป็นชี้ตายถึงความอยู่อยู่รอดของธุรกิจ ด้วยการวิเคราะห์ประเด็นสำคัญง่าย ๆ ดังนี้

3.1 เราอาจจะตั้งคำถาม และวิเคราะห์ให้ได้ว่าธุริกจนี้ในอนาคตจะมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอะไรที่จะทำให้ runway ของธุรกิจยาวขึ้น หรือ สั้นลง เช่น กล้องฟิลม์ มีความเสี่ยงจากกล้อง Digital จนทำให้ Runway ของ ธุรกิจไม่ยืนยาว แต่ธุรกิจงานศพ กลับมี Runway ที่ยาวนาน ไม่เปลี่ยนแปลง มันมีเหตุผลอะไรที่ทำให้เป็นเช่นนั้น นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ บัฟเฟท ไม่สนใจในหุ้นเทคโนโลยีหรือไม่ เพราะไม่เข้าใจความเสี่ยงในเรื่อง Runway ของธุรกิจนั้นเอง


4. ผู้ที่สนใจในธุรกิจธนาคารเก่าแก่ Well Fargo มีข้อแนะนำให้หาตัวอย่างการวิเคราะห์ ในหนังสือชื่อ Security Analysis ของปู่เบน เกรแฮมเจ้าพ่อ Value investor ท่านหนึ่ง ซึ่งในบทความของหนังสือนี้มีหลายเรื่องที่มีการวิเคราะห์มุมมองของธนาคารต่าง ๆ ในมิติต่าง ๆ ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน จะทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น


5. ในการซื้อหุ้นอย่างไรไม่ให้ขาดทุน เราควรรู้ว่า เส้นทางที่จะไปสู่การขาดทุนนั้น เป็นอย่างไรจะได้เข้าใจความเสี่ยงของธุรกิจที่เราจะคัดเลือก หรือลงทุนไปแล้วจะได้รู้ว่าจุดตายของธุรกิจอยู่ตรงไหน เมื่อรู้แล้วเราจะได้หลีกเลี่ยงเส้นทางนั้นเสีย ซึ่งเราควรจะศึกษา metal model ของลุงชาลีซึ่งมีหลายบทความที่พูดถึงการวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวที่น่าสนใจไว้

วันจันทร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2558

การดำรงตนในตลาดหุ้นด้วย CANSLIM

วันนี้เป็นวันที่ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องราวการใช้ CANSLIM สร้างตนและอยู่รอดในตลาดหุ้น

ผมเองเข้าตลาดหุ้นตั้งแต่ปีประมาณ 2006 ปลาย ๆ ปี จวบจนบัดนี้ก็ 8-9 ปีไปแล้ว จะว่าบังเอิญก็ใช่จะว่าฟลุ๊ค ก็ตามที แต่ผลตอบแทนในการลงทุนก็ดีกว่าการฝากเงินและถ้าจะพูดให้ตรงก็คือโดยรวมแล้วน่าจะดีกว่า SET โดยรวม ซึ่งนั่นไม่ได้เป็นหลักประกันว่าอนาคตผมจะทำได้ดีหรือไม่?

จึงจั่วหัวข้อของ บล็อคว่า "การดำรงตนในตลาดหุ้น" นั่นหมายถึงการ เอาตัวรอดให้ได้ในตลาดหุ้นนั่นเอง

เมื่อผมพูดถึง CANSLIM แล้ว C-A-N-S-L-I-M คืออะไรมาทำความรู้จักกันก่อน ขออ้างอิงบทความเก่าของผมเองที่เขียนไว้แล้วมีคน ก๊อป ไปมากเหลือเกิน ดังนี้ครับ

วิธีดูหุ้นเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณ


วิธีการและแนวทางการลงทุน ที่ผสมข้อมูลเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณเป็นเกณฑ์ในการเลือก หุ้นลงทุน แนวคิดที่สำคัญในการลงทุนคือ “มองหาหุ้นที่โตเร็วที่มีศักยภาพในการที่ราคาจะพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง” นั้นคือ ซื้อหุ้นเมื่อบริษัทแข็งแกร่ง ขายออกเมื่อบริษัทอ่อนแอลงเขาแนะนำนักลงทุนให้ใช้แนวทาง 7 ประการในการลงทุน โดยมีตัวย่อ C-A-N-S-L-I-M

C = ผลกำไรไตรมาสก่อน (Current quarterly earnings)
มองหาบริษัทมีเพิ่งประกาศผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 40 – 500%

A = กำไรต่อปีเพิ่มขึ้น (Annual earnings increases)
มอง หาบริษัทที่มีความเติบโตติดต่อกันห้าปี โดยมีอัตราเติบโตที่ไม่ต่ำกว่า 25%ต่อปี ถ้าหุ้นมีลักษณะอย่างนี้เราไม่จำเป็นต้องสนใจ PE Ratio ซึ่งช่วงของ PE อาจจะอยู่ที่ 20 ขึ้นไป

N = สินค้าใหม่ ทีมบริหารใหม่ จุดสูงสุดใหม่ (New products, new management, new highs)
หุ้น ที่ดีมักจะมีเรื่องราวใหม่ๆอยู่เบื้องหลังมัน เช่น สินค้าใหม่ที่น่าสนใจ หรือ ผู้บริหารคนใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดจุดสูงสุดใหม่

S = อุปสงค์ และ อุปทาน (Supply and demand)
หากหุ้นที่มีขนาดเล็กมีปริมาณการซื้อขายสูงๆ จะทำให้โอกาสที่ราคาหุ้นจะถูกขับเคลื่อนสูงขึ้นได้

L = ผู้นำ และ ผู้ตาม (Leaders and laggards)
เลือก ลงทุนในหุ้นที่มีความเข้มแข็งในอันดับต้นของหมวดนั้นๆซัก 2 -3 บริษัท หุ้นเหล่านี้มักจะปรับตัวดีกว่าหุ้นอื่นๆในหมวดเดียวกันในอัตรา 80 – 90% ภายใน 12 เดือน อยู่ให้ห่างหุ้นที่ปรับตัวแย่ลงในระยะ 7 เดือน

I = ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนสถาบัน (Institutional sponsorship)
หา ให้ได้ว่าหุ้นตัวใดที่นักลงทุนสถาบันนิยมซื้อ หากเป็นหุ้นที่มีผลตอบแทนดีและนักลงทุนสถาบันยังมีอยู่น้อย เราอาจจะนำมาเป็นหุ้นที่เราจะเข้าซื้อ

M = ทิศทางของตลาด (Market direction)
ตรวจสอบตลาดทุกวันเพื่อหาสัญณาณของการปรับตัวลง และให้ระวังการเข้าซื้อในขณะนั้น

ตัดขาดทุน เขาแนะนำให้ทำการขายหุ้นออกเมื่อหุ้นนั้นตกลงต่ำกว่า 7-8% จากราคาที่ซื้อมาโดยไม่ต้องมีคำถาม

ขายหุ้นที่ขึ้นไม่ถึง 20%ภายใน13 สัปดาห์ ให้ถือหุ้นที่ขึ้นเกิน 20% ภายใน 4 – 5 สัปดาห์ หุ้นพวกนี้มักจะเป็นหุ้นที่ทำกำไรมากที่สุด

ใน กรณีที่หุ้นที่คุณซื้อมาและมีการปรับตัวขึ้น 25%อย่างรวดเร็วภายใน 1-2สัปดาห์ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าอาจจะมีข่าวดีทำให้นักลงทุนในตลาดแห่กันเข้าเก็บ หุ้นอย่างเร่งร้อน เราควรรีบทำกำไรในช่วงนี้


..................................

ตอนนี้เรียนรู้ทฤษฎีกันไปก่อน ตอนหน้าจะมาสอนเรื่องเคล็ด และการออกรบจริง รวมถึงแนะนำอาวุธที่สำคัญ อีกสองอย่างคือ

1. กราฟรูปถ้วยและหู
2. Distribution Day

และเรื่องที่สำคัญที่สุดที่ผมจะเขียนถึง คือ จิตวิทยาการลงทุนด้วย CANSLIM

วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2557

15 คำถามกับ เบน แกรม อาจารย์ใหญ่แห่งวอลล์สตรีท

บทสัมภาษณ์นี้ถือเป็นเอกสารชิ้นที่หายากในโลกแห่งการลงทุนทีเดียว หากใครก็แล้วแต่ที่เป็นนักลงทุนเน้นคุณค่าและตามงานของ อ.เบน มาตั้งแต่ต้นแต่ไม่ได้อ่านสัมภาษณ์นี้เหมือนอ่านวิทยานิพนธ์แต่ขาดหน้าสุดท้ายคือ "บทสรุป" ที่ตกผลึกของอาจารย์ใหญ่แห่งวอลล์สตรีทท่านนี้

ผมต้องใช้คำว่าแปลดิบ และเรียบเรียงได้ไม่ดีสำหรับสัมภาษณ์ฉบับนี้นะครับ แต่ถ้ามีเวลาจะมาเกลาภาษาให้สละสลวยอีกครั้งครับ
......................................


บทสัมภาษณ์อันทรงคุณค่ากับ เบนจามิน แกรม

ในปี พ.ศ. 2519 นิตยสาร Financial Analysts Journal (www.cfapubs.org/loi/faj) 

บทสัมภาษณ์อันทรงคุณค่ากับ บิดาแห่งการลงทุนแบบแวลูอินเวสติ้ง เบนจามิน แกรม

บทสัมภาษณ์อันทรงคุณค่า ที่ได้ถูกนำมาเสนออีกครั้ง ณ ที่นี้ เป็นบทความที่จะให้ทุกท่านเห็นภาพที่แจ่มชัด ตลอดจนขจัดข้อสงสัยเกี่ยวกับการลงทุน จากการรวบรวมสิ่งที่เป็นประเด็นและข้อถกเถียงต่าง ๆ มาชี้แจงและให้คำตอบซึ่งหนักแน่นราวประหนึ่งเป็นหลักฐานยืนยัน ถึงบริบทอันเป็นหัวใจของการบริหารการลงทุน ที่ยังทรงพลังอยู่ในโลกปัจจุบัน

เบน แกรมยกตัวอย่างถึงตลาดหุ้นว่าเป็นเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ที่ทุกสถาบันใส่ผ้าลงไปซักหมุนวนแบบไร้จังหวะไร้เหตุผล และลากยาวมาสู่คำถามที่ว่ากระบวนการพยากรณ์มีอยู่จริงหรือ ?

ท่านใช้เพียงไม่กี่คำพูดเท่านั้นท่านก็สามารถอธิบายพวกเราว่าทำไมโปรเฟสเซอร์ทางด้านการลงทุนโดยเฉลี่ยแล้วถึงแพ้ต่อตลาด

กล่าวโดยสรุป บทสัมภาษณ์นี้ให้คุณค่ารวมถึงภาพเชิงลึกซึ่งยังทรงพลังแม้ในปัจจุบันและในอนาคต

การสนทนากับอาจารย์ใหญ่แห่งวอลล์สตรีท ผู้เขียนหนังสือ Security Analysis ท่านนี้เราคงไม่ต้องอารัมภบทกับท่านผู้อ่านว่าท่านเป็นใครมาจากไหนทางนิตยสารขอขอบคุณ คุณชาร์ล ดี เอลลิส, สมาชิกบรรณาธิการบริหาร ในการจัดรูปแบบการนำเสนอคำถามและคำตอบในงานสัมมนา Donaldson, Lufkin และ Jenrette ที่ผ่านมา

----------------------------
คำถาม (1) ในมุมมองของท่านในวันที่ท่านอายุหกสิบกว่าแล้ว ขอให้ท่านสรุปภาพใหญ่ของวอลล์สตรีท ในการลงทุนในหุ้นสามัญให้ฟังหน่อยครับ

อาจารย์เบนหุ้นสามัญมีคุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญอย่างหนึ่งและคุณสมบัติในการถูกเก็งกำไรอีกอย่างหนึ่ง มูลค่าพื้นฐานและราคาของหุ้นสามัญมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น แม้จะไม่สม่ำเสมอเป็นเส้นตรง แต่เพิ่มขึ้นอย่างคงเส้นคงวาในทศวรรษที่ผ่านมา และเกิดความมั่งคั่งที่สะสมขึ้นจากการรีอินเวสต์เมนต์ของกองทุนที่ได้กระจายรายได้ลงไปทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้ผมยังไม่ได้ให้ความชัดเจนนะว่าเงินเฟ้อจะเป็นเท่าไร มากขึ้นหรือน้อยลง

อย่างไรก็ตามการเติบโตของตลาดหุ้นในทิศทางของราคานั้น ไร้เหตุผลและมีความแปรปรวนสูง ทั้งนี้เป็นผลพวงมาจากการเก็งกำไร รวมถึงการมองตลาดหุ้นเป็นการพนัน หวังรวย กลัว โลภ
----------------------------
คำถาม (2)บทบาทของสถาบัน เป็นอย่างไรในมุมมองของท่าน

อาจารย์เบนน่ารังเกียจแม้แต่พวกที่มองว่าตนเองอยู่เหนือคนอื่น สำหรับผมตลาดหุ้นคือสถานที่เปรียบได้ดังกับตลาดโลกีย์ ( Vanity Fair ) ในนวนิยายของ John Bunyan เปรียบเปรยดั่งสถานที่ ที่ซึ่งทุก ๆ วันจะมี ความโลภ ความกระหายในรสชาด ราคะ มาเร่ขาย หรือไอ้อ้วนขี้เกียจ Falstaffian เอาแต่สนุกไปวัน ๆ ตัวตลกในละครเช็คเสปียร์ พวกเค้าเหล่านั้น บ้าบอไปวัน ๆ อยู่ในโรงพยาบาลบ้า!

มีเรื่องราวเซ็งแซ่ เกรี้ยวกราด แต่หาแก่นสารไม่ได้” เปรียบดั่งเครื่องปั่นซักขนาดใหญ่ที่สถาบันการเงินโยนกองผ้ามหึมาลงไปปั่น ไร้จังหวะ ไร้การควบคุมปราศจากเหตุผล

ไม่ธรรมดาตลาดหุ้นมันถูกออกแบบและปฏิบัติให้เป็นเยี่ยงนี้ อย่างหลีกไม่พ้น
----------------------------
ถาม (3)ท่านมีมุมมองต่อสังคมการเงินทั้งหมดอย่างไร?

อาจารย์เบนพวกเค้าเป็นคนเก่งนะและผมก็เชื่อว่าพวกเค้าทำงานอย่างซื่อสัตย์สมควรได้รับคำเคารพ แต่เค้าเหล่านั้นขาดประสบการณ์ในการทำความรู้จักกับตลาดหุ้น และยังขาดความเข้าใจในการลงทุนในหุ้นสามัญ ซึ่งผมให้คำนิยามว่ามันคือ ธรรมชาติของสัตว์ป่า” คนในตลาดหุ้นเหล่านั้นพยายามอย่างมากทุ่มเททั้งเวลา ความกล้า ความมีและไม่มีประสิทธิภาพเพื่อสู้กับสิ่งที่เค้าสู้ไม่ได้
----------------------------
ถาม(4)ท่านยกตัวอย่างได้มั๊ยครับ?

อาจารย์เบนเช่นการคาดการณ์ตลาด ทั้งระยะสั้นและระยะยาว การให้เป้าหมายในเชิงราคาของหุ้นสามัญ หรือการพยากรณ์ว่าอุตสาหกรรมใดหรือบริษัทใดน่าลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระยะสั้น
----------------------------
ถาม(5)ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่สามารถทำผลตอบแทนได้เหนือกว่า ดาวน์โจนส์หรือเอสแอนด์พี หรือไม่ครับ?

อาจารย์เบนไม่มันเป็นไปไม่ได้ครับ ถ้าผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่สร้างผลตอบแทนได้แบบนั้นก็เท่ากับบี้พวกเค้ากันเองทั้งหมดซิครับ ตรรกะมันขัดกัน
----------------------------
คำถาม(6)ดังนั้นนักลงทุนลูกค้าสถาบันการเงินควรจะพอใจกับผลตอบแทนที่เท่าเทียมกับดัชนีดาวน์โจนส์

อาจารย์เบนครับ มันไม่เพียงแค่นั้น, แต่ผู้ลงทุนควรตรึกตรองและตรวจสอบผลการดำเนินงานย้อนหลังอย่างน้อยห้าปีเพื่อพิจารณาว่าผลตอบแทนกองนั้น ๆ คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนที่ลูกค้าต้องจ่ายหรือไม่
----------------------------
คำถาม(7)ท่านครับนักลงทุนที่แตกต่างกันย่อมมีความต้องการที่แตกต่างกัน อะไรบ้างที่เป็นจุดที่นักลงทุนไม่ลงทุนในอินเด็กซ์ฟันด์

อาจารย์เบนลึก ๆ แล้วเส้นที่บอกว่ารับได้หรือรับไม่ได้ ก็คือผลตอบแทนในระดับทั่ว ๆ ไปจากผลดำเนินงานในอดีตแน่นอนนักลงทุนทุกคนต้องการผลตอบแทนที่ดี และรับได้ในระดับที่เค้าเหล่านั้นคิดว่าผลตอบแทนที่ได้รับทำให้เค้ามีความสุข

แล้วถ้าเค้าลงทุนในกองไหนก็แล้วแต่ แต่แล้วได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าอินเด็กซ์ฟันด์  หรือทำผลตอบแทนได้ต่ำกว่าตลาดเค้าจะมีความสุขไหมล่ะครับ?

ผมตอบได้เลยว่าเค้าไม่มีความสุขหรอก

กองทุนแต่ละกองก็คิดค่าบริหารกองทุนในระดับเท่า ๆ กันอยู่ ถ้าเค้าต้องจ่ายค่าบริหารกองทุนเหมือน ๆ คนอื่น แต่ได้รับผลตอบแทนต่ำกว่ามาตรฐาน เค้าจะรับได้หรือ?
----------------------------
คำถาม(8)ขอกลับมาที่นักลงทุนรายย่อย ท่านคิดว่ามีข้อด้อยใด เมื่อเปรียบเทียบกับนักลงทุนสถาบัน เพราะว่าสถาบันมีทรัพยากรมากมาย ทั้งข้อมูล สารสนเทศที่ง่ายต่อการเข้าถึง?

อาจารย์เบนตรงข้ามเลยครับ นักลงทุนรายย่อยมีแต้มต่อสถาบันมากมายมหาศาล
----------------------------
คำถาม(9)ทำไมครับท่าน?

อาจารย์เบนอย่างแรกสถาบันมีข้อจำกัดในการลงทุนและการเลือกหุ้น เช่น 300 ถึง 400 หุ้นขนาดใหญ่ และถูกจำกัดด้วยนักวิเคราะห์หรือกลุ่มของนักวิเคราะห์ร่วมตัดสินใจภายใต้กรอบของเขาเหล่านั้น ตรงกันข้ามรายย่อยเข้าถึงหุ้นได้มากกว่า อาจจะสามพันหุ้นในเอสแอนด์พี โดยไม่ถูกจำกัดขอบเขตและวิธีการ นักลงทุนรายย่อยสมมตินะครับเลือกหุ้นที่ดีมาแค่ 1จากหุ้นทั้งหมด 3,000 ตัว ก็คือ 30 ตัว และคัดสรรจาก 30 ตัวนี้ ลำพัง 30 ตัวนี้ก็เพียงพอในการสร้างโอกาสให้กับตนเองในการลงทุนชั้นยอดแล้วครับ
----------------------------
คำถาม(10)กฏเกณฑ์ที่นักลงทุนรายย่อยควรใช้ในการลงทุนของเค้าคืออะไรครับ

อาจารย์เบนผมให้กฎที่สำคัญไว้ 3 ข้อ ดังนี้

(1) นักลงทุนรายย่อยไม่ควรเก็งกำไรในทุกรูปแบบทุกกรณี นักลงทุนควรระมัดระวังรอบคอบและใส่เหตุผลให้มากถึงการซื้อหุ้นทุก ๆ ครั้งว่าหุ้นที่ซื้อมาจะมีมูลค่ามากกว่าราคาที่เค้าจ่ายไป หรืออีกนัยหนึ่ง Margin of Safety ในการลงทุนแบบเน้นคุณค่าสิ่งนี้จะสร้างความปลอดภัยให้กับการลงทุนของเขา

(2)ซื้อเพราะอะไร-ขายเพราะสิ่งนั้น นักลงทุนควรแน่วแน่กับปณิธานของตนเอง ตั้งเป้าแน่นอนว่าควรจะขายเมื่อไร? เช่นกำไรระหว่าง 50-100หรือจะถือไว้ 2-3 ปีแล้วจึงค่อยพิจารณาอีกครั้ง แต่อย่างน้อยจะถือไว้ 2-3 ปีก่อน เป็นต้น นักลงทุนที่ไม่ชัดเจนเรื่องเหล่านี้สุดท้ายแล้วเค้าจะขายหุ้นของเค้า เมื่อตลาดตกหรือราคาตก

(3)สุดท้ายนี้ผมขอแนะนำเรื่องการถือครองหุ้นและบอนด์ในสัดส่วน อย่างน้อยที่สุด 25:75 หรือ 75:25 ในบางช่วงบางตอนอาจจะ 50:50 ก็ปรับกันไปตามจังหวะของตลาดบางช่วงหุ้นมากหน่อยบางช่วงบอนด์มากหน่อย ผมแนะนำว่านักลงทุนควรเลือกถือครองพันธบัตรอายุ 7-8 ปีในการถือครอง

----------------------------
คำถาม(11):เวลาเลือกหุ้น อาจารย์แนะนำว่าควรจะเลือกหุ้นจากหลาย ๆ ตัวมาตัวนึงแล้วศึกษาให้ลึกใช่มั๊ยครับ

อาจารย์เบนจริง ๆ แล้วไม่, ผมไม่ได้สนับสนุนแนวคิดของ Security Analysis เทคนิค ในการที่จะแสวงหาโอกาสในการลงทุนในหุ้นที่ราคาต่ำกว่าพื้นฐาน เทคนิกนั้นมันใช้ได้เมื่อ 40 ปีมาแล้วเมื่อพวกเราเขียนหนังสือ แกรมและด็อดจ์ตีพิมพ์ครั้งแรก แต่ตอนนี้สถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนไปอย่างมาก สมัยก่อนนักวิเคราะห์ไม่ได้ถูกอบรมมาดีขนาดนี้ในการค้นหาหุ้นราคาถูก แต่ปัจจุบันรีเสิร์ชจำนวนมหาศาลได้ถูกตีพิมพ์ออกมาพร้อมรายละเอียด ผมสงสัยว่าการที่มีคนจำนวนมากศึกษาและวิเคราะห์จะสร้างกระบวนการในการให้ราคาที่เหมาะสมในหุ้นแต่ละตัวขึ้นมาด้วยข้อจำกัดของทุกวันนี้ ผมกลับมีความเชื่อมั่นใน ทฤษฎีตลาดที่มีประสิทธิภาพที่ถูกโพรเฟสเซอร์สอนและพัฒนาขึ้นมา
----------------------------
คำถาม(12)อาจารย์ใช้วิธีการใดในการสร้างพอร์ตโฟลิโอ

อาจารย์เบนสำคัญมากครับ, คือต้องเป็นพอร์ตที่เข้าใจง่ายมีเกณฑ์ราคาในการเลือกหุ้นสักหนึ่งหรือสองข้อ เพื่อตอกย้ำว่ามูลค่าที่แท้จริงได้ถูกสะท้อนออกมาอย่างเต็มที่ แล้วก็ถือมันไว้ด้วยผลลัพธ์ของพอร์ตโฟลิโอทั้งพอร์ต ทั้งพอร์ต ไม่ใช่ความคาดหมายของหุ้นตัวใดตัวหนึ่งในพอร์ต
----------------------------
คำถาม(13)ท่านช่วยชี้ชัดวิธีการที่นักลงทุนรายย่อยควรเลือกใช้เพื่อสร้างและประคับประคองพอร์ตโฟลิโอ?

อาจารย์เบนผมให้แนวทางไว้สองแนว วิธีการแรกค่อนข้างจะมีข้อจำกัดในการนำไปใช้แต่ผมพบว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาถึงสามสิบปีในการบริหารกองทุนขนาดกลาง วิธีที่สองค่อนข้างจะเป็นแนวคิดวิจัยใหม่เมื่อไม่กี่ปีมานี้และนักลงทุนสามารถนำไปปฏิบัติได้ง่ายกว่า เพราะมันประกอบไปด้วย โลจิกส์ที่ดี การนำไปประยุกต์ได้ง่าย และที่สำคัญให้ผลตอบแทนสูง สมมุติฐานที่ผมกล่าวถึงนี้ถูกสร้างขึ้นมามากกว่าห้าสิบปีแล้วนับตั้งแต่ปี พศ. 2468 - 2518
----------------------------
คำถาม(14)ท่านช่วยลงรายละเอียดหน่อยครับ

อาจารย์เบนวิธีการแรกด้วยข้อจำกัดของมัน เราจะใช้เทคนิกในการเลือกหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า เงินทุนหมุนเวียน (working-capital) ของมัน หรือสินทรัพย์หมุนเวียนสุทธิ (net-current- asset) ผมไม่ให้ราคากับสินทรัพย์ถาวร โรงงาน และหักหนี้สินทั้งหมดจากสินทรัพย์หมุนเวียน เราใช้วิธีการนี้อย่างเข้มข้นในการบริหารกองทุนกว่าสามสิบปี เราพบว่าเราได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 20ต่อปีด้วยวิธีการนี้ อย่างไรก็ดีพอเข้าช่วงปี 2493 แต่แล้ววิธีการของผมก็เริ่มที่จะหาหุ้นซื้อได้น้อยลง แต่หลังจากตลาดตกลงอย่างรุนแรง ในช่วงปี 2516-2517 ก็เริ่มกลับมา ในเดือน มกราคม 2519 ผมสามารถหาหุ้นด้วยวิธีดังกล่าวได้มากกว่า 300 หุ้นในเอสแอนด์พี (จากสามพันกว่าตัวในตลาดก็ประมาณ 10%) ผมเรียกวิธีนี้ว่าเป็นวิธีการลงทุนที่ปลอดภัย คือมันเป็น ระบบที่ปลอดภัย ผมขอย้ำอีกครั้งว่ามันไม่ได้เกิดจากการคัดสรรหุ้นทีละตัว แต่มันเป็นผลลัพธ์ของระบบมากกว่า
----------------------------
คำถาม(15)แล้วอีกวิธีของท่านล่ะครับ

อาจารย์เบนอีกวิธีการของผมโดยปรัชญาการลงทุนแล้วคล้ายคลึงกันครับ คือเราจะเลือกหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าปัจจุบันหรือมูลค่าที่แท้จริงขึ้นมากลุ่มหนึ่ง เช่น กฏเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

1)      เจ็ดเท่าของกำไรใน 12 เดือน (1ปี) ที่ผ่านมา (พีอี 7)
2)      คุณอาจเลือกเกณฑ์อื่น ๆ เช่น ปันผลมากกว่า 7%
3)      มูลค่าทางบัญชีมากกว่า 120ของราคา

ผมพึ่งทำการวิเคราะห์ทางสถิติย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 2468-2518 พบว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของการใช้เกณฑ์ดังกล่าวเฉลี่ย 15ต่อปี หรือมากกว่าดัชนีดาวน์โจนส์ถึง 1 เท่าตัว

หลักการใด ๆ ก็ตามหรือเกณฑ์ใด ๆ ก็ตามผมยึดถือปฏิบัติว่าจะต้องเข้าหลักปฏิบัติดังนี้

1)      มีโลจิกส์ที่ชัดเจน
2)      นำไปปฏิบัติได้
3)      มีสถิติผลตอบแทนที่ดี

ซึ่งที่สุดแล้ววิธีการใด ๆ ที่นักลงทุนแท้จริงใช้จะเป็นสิ่งป้องกันตัวเค้าเหล่านั้นจากการที่มองโลกสวยจนเกินไป และยังป้องกันไม่ให้เค้าเหล่านั้นเข้าไปเล่นเก็งกำไรในตลาดหุ้น (วอลล์สตรีท) แล้วก็นับเป็นโชคของคนส่วนน้อยที่เข้าไปเก็งกำไรแล้วประสบความสำเร็จ ซึ่งคนส่วนใหญ่ฝันไปว่าจะทำได้แบบนั้น

มันก็เลยมีแนวคิดที่มโนไปว่า การทำกำไรในตลาดหุ้นต้องใช้ ความเฉลียวฉลาด วิธีการ หรือแนวทางของมืออาชีพในการทำกำไร

แต่พวกเราอดสงสัยไม่ได้ หรือในบางครั้งก็มองโลกในแง่ร้ายไปเลยนะครับว่าถ้าคุณเข้าไปเล่นในตลาดหุ้นโดยไม่มีหลักการอะไรเลย โดยเฉพาะหลักในการลงทุน แล้วคุณทำกำไรได้ ผมคิดได้แค่สองอย่าง หนึ่ง) คุณฟลุ๊ค สอง) คุณเป็นยอดมนุษย์