วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

A talk with Philip Fisher




A talk with Philip Fisher 

เรียบเรียงตามความเข้าใจไม่ได้แปลตามตัวอักษร โดย Nevercry.boy วันที่ 3 ธันวาคม 2554

ออฟฟิตของฟิชเชอร์ไม่ใช่ออฟฟิตที่หรูหรา ท่านทำงานในห้องแถวชั้นเดียวขนาด 9 ห้องติดกัน ธรรมดา ๆ และไม่ได้มีอะไรพิเศษ อยู่ในเมือง ซานมาทีโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย ถ้าการจราจรไม่ติดขัดขับรถเพียง 30 นาทีก็ถึงออฟฟิตของท่าน

ภายในสถานที่ทำงานของท่านก็เรียบง่ายเช่นเดียวกัน เป็นห้องโถงเปิด มีเลขานั่งอยู่เพียงหนึ่งคน มีตู้เอกสาร โทรศัพท์ เครื่องตอบรับอัตโนมัติ ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีเครื่อง Quotron ไม่ได้มีชั้นวางหนังสือที่ยุ่งยากมากมาย 

คงมีเพียงจิตใจที่สงบ จิตใจที่ผ่านการฝึกฝนอย่างดีแล้วแค่นั้นก็เพียงพอ

ฟิชเชอร์กล่าวออกตัวว่าโต๊ะทำงานของท่านรกมากเพราะท่านเพิ่งเดินทางกลับมาจากนิวอิงแลนด์ ท่านไปทำธุระเรื่องค่าจ้างเมื่อลูกจ้างมารายงานตัวเพื่อทำงานในรัฐนิวอิงแลนด์สัปดาห์ที่แล้ว

ในเดือนกันยายนนี้อายุท่านจะย่างเข้าวัยแปดสิบ ฟิชเชอร์ยังคงกระฉับกระเฉง คมความคิด และความฉลาดหลักแหลมของท่านมั่นคงไม่หวั่นไหว ท่านยังคงบริหารกองทุน และพัฒนาแนวคิด วิธีการใหม่ ๆ ที่สั่งสมขึ้นในแต่ละวัน 

คนญี่ปุ่นมักจะยกย่องผู้มีความรู้ ผู้มีปัญญา เฉกเช่นทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน ในความเห็นของเราไม่เพียงแค่วอลท์สตรีทหรือแม้แต่ในรัฐแคลิฟอร์เนียแต่หมายถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ฟิชเชอร์สมควรได้รับการเชิดชูเกียรติเฉกเช่น "ปราชญ์ของแผ่นดิน"

คำถาม: ท่านเห็นสัญญาณอะไรบ้างครับสำหรับวันนี้?

ฟิชเชอร์: ผมเห็นหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนใหม่ ๆ ซึ่งก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรซื้อขายกันอยู่ที่ราคาประมาณ หกเท่าของรายได้ ส่วนบริษัทพื้น ๆ ก็ขายกันอยู่ที่ สามหรือสี่เท่าของรายได้ ผมว่ามันอันตรายนะ คือผมไม่ได้บอกว่ามันจะเกิดหายนะในเดือนหน้านะ ผมก็ไม่รู้ แต่ผมอยากเตือนให้ระวัง

ผมเห็นการขยายเครดิตอย่างมากเกือบจะทุกทาง ถ้าแบงค์ของประเทศใช้กฎเกณฑ์เดียวกันกับบริษัททำ จดบันทึก ปริมาณสินทรัพย์ สินเชื่อ แจ้งแก่ตลาด ทุกคนก็จะพบว่าปัจจุบันนี้เราอยู่ในสถานะการณ์ที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ 

ผู้บริโภคมีหนี้สินสูงมาก ความเห็นของผมนะ สูงเกินตัวเมื่อเทียบกับรายได้ หลายคนแย้งว่า หนี้ยังไม่สูงหรอกถ้าเทียบกับทรัพย์สินที่เค้ามี

พูดอะไรกัน เหลวไหล? คุณก็รู้กันอยู่ว่าตลาดหลักทรัพย์ไม่เคยให้ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงกว่าพื้นฐานอยู่แล้ว ตลาดมักจะกดราคาอยู่แล้ว!

เรามาถึง “ทางตัน” รัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ (ขณะนั้น ประธานาธิบดี เรแกน, Fed Chairman คือคุณอลัน กรีนสแปน) เรากำลังขาดดุลทางการค้า ในความเห็นของผมมันเป็นสิ่งที่รุนแรงพร้อม ๆ กับจะสร้างปัญหาหนักหน่วงที่กำลังจะตามมา

Fed และรัฐบาลของเรากู้ยืมเงินจากต่างประเทศให้มาซื้อตลาดพันธบัตร คือผมหมายความว่าการที่เค้ากระตุ้นให้คนต่างชาติมาเป็นเจ้าของทรัพย์สินของประเทศนี่มันบัดซบจริง 

ถ้าพูดแบบสุภาพนะมันเป็นการสิ้นคิด ไม่ช้าก็เร็วคนต่างชาติพวกนั้นเค้าย่อมอยากได้เงินของเค้าคืน ถ้าเวลานั้นมาถึงอะไรจะเกิดกับมูลค่าของเงินดอลลาห์ อะไรจะเกิดกับตลาดหุ้น คิดแล้วมันน่ากังวลครับ
พวกไอ้จ๋อในวอชิงตันก็จ้อกันอยู่ได้ว่าเราต้องทำให้พันธบัตรของเราเป็นที่ดึงดูดของคนต่างชาติเพื่อกระตุ้นให้พวกเค้าซื้อมันมากขึ้น

ดูสถานการณ์โลก ณ ขณะนี้สิครับ ภาวะสิ้นหวังทางเศรษฐกิจของเหล่าประเทศโลกที่สามกำลังลุกลาม สถานการณ์ตอนนี้ไม่แตกต่างจากช่วงปลายปี 1920 เลยครับ

ระหว่างปี 1929-1933 เราเข้าสู่ปีที่ยากลำบากทางเศรษฐกิจ คนในยุคนั้นโดนทำให้ขวัญกระเจิง คนร่ำรวยมั่งคั่งไม่มีงานทำ คนร่ำรวยต้องปิดไฟเกือบทุกดวงในบ้านเพื่อประหยัด ผมเคยพบกับผู้บริหารโรงงานแห่งหนึ่งที่สุดท้ายแล้วกลายเป็นยามในขณะที่ภรรยาของเค้าเป็นคนทำความสะอาด

คำถาม เมื่อไรหายนะแบบนั้นจะเกิดขึ้นอีกครั้งครับ?

ฟิชเชอร์: ผมไม่รู้ทั้งหมดหรอกครับบางอย่างผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามันเป็นอย่างไรระหว่างปี 1927-1929 คนฉลาดสุด ๆ คนเก่ง คนที่สุขุมมีเหตุผล ต่างก็กลัวนรกในปี 1927 และยังต่อเนื่องไปอีกถึงสองปีกว่า

มันอาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งนะ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน

เราเรียนรู้ว่าจะฉีดยาสลบเพื่อระงับความเจ็บอย่างไร การฉีดยาสลบก็ง่าย ๆ พิมพ์เงินออกมายัดใส่มือชาวบ้านหรือเปิดเครื่องปั๊มเครดิต เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายขนาดใหญ่มาก ๆ ทั้งค่าใช้จ่ายภาครัฐและการขยายเครดิตไปทั่ว

แค่นี้เราก็จะไม่วิกฤติแล้วใช่มั๊ย? แต่รู้มั๊ยอะไรจะเกิดตามมา เงินเฟ้ออย่างมหาศาล มันเคยเกิดมาแล้วในอาร์เจนติน่าและบราซิล ผมว่าในอีก 2 ปี หนึ่งถึงสองปี เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นและดำเนินไปสี่ถึงห้าปี


คำถาม ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น พวกเราจะป้องกันตัวอย่างไรครับ?


ฟิชเชอร์: ผมศึกษาลึกกับกรณีเช่นนี้ ยกตัวอย่างกรณีของประเทศฝรั่งเศสหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รวมถึงเยอรมัน มันเป็นภาวะเงินเฟ้อรุนแรงมากครับ ในเยอรมันเงินเฟ้อพุ่งไปถึงระดับอินฟินิตี้ และสิ่งที่เกิดขึ้นในทั้งสองประเทศ ถ้าคุณลงทุนซื้อซุปเปอร์สต๊อกตามนิยามของผม ไม่ใช่สต๊อกดาษดื่นทั่ว ๆ ไปนะ

แม้ว่าคุณจะต้องร้อง “แม่งเอ๊ย” ขึ้นมาดัง ๆ ระหว่างที่เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไป แต่หลังจากเงินเฟ้อจบลง กำลังในการซื้อกว่า 80% จะกลับมาในมือของผู้บริโภคและคุณจะพบผลลัพธ์ของมัน

ถ้าผมสามารถทำได้ที่จะมีเงินสด 80% เพื่อที่จะรอและอัดซื้อเข้าไปในช่วงเวลานั้น ถ้ายังไม่ถึงเวลานั้นผมก็ถือพันธบัตรไปก่อน การทำอย่างนั้นได้มันโคตรยาก 

การคาดเดาตลาด เพื่อจะหาจุดเวลาที่เหมาะสมถ้ายังไม่เหมาะสมก็ถือเงินสดจำนวนมาก ๆ ไปก่อน ผมคงไม่โคตรอัจฉริยะขนาดนั้น เพราะผมคิดว่ามันต้องมีช่วงเวลาพักที่ยาวนาน ผมก็ต้องพักยาวนานเช่นกันและผมต้องใช้เวลายาวนานในการกลับมาอีกหน นั่นไม่ใช่วิธีการของผม ตราบใดที่ผมไม่ชัวร์ ผมใช้วิธีการเฮดจ์ เอาง่าย ๆ นะ ผมมี 65-68% อยู่ในหุ้น 4 ตัว และมีประมาณ 20-25% เป็นเงินสด แล้วที่เหลือก็เป็นหุ้นตัวเล็ก ๆ ประมาณห้าตัวที่อยู่ในภาวะเตรียมพร้อม

ถาม ท่านทำไมไม่ซื้อหุ้นหรือถือหุ้นหลายตัวครับ?

ฟิชเชอร์: ผมมีสี่ตัวก็พอแล้วครับ เพราะผมก็ต้องการเท่านั้น มันตอบโจทย์ของผม ผมมีอีกห้าตัวแต่มีในจำนวนน้อยนะครับผมพึ่งซื้อเข้ามา ผมยังไม่มั่นใจ แต่ถ้าจะแทงผมคิดว่าสองในห้าดูดีกว่าอีกสามตัว

ทุก ๆ สิบปีจนถึงวันนี้มันไม่ได้เจอหุ้นดี ๆ บ่อย ๆ จนถึงอายุ 80 ผมเจออยู่ประมาณ 14 ตัวเท่านั้นเอง ตอนผมอายุสามสิบผมเจอสองตัว ผมกำไรในช่วงนั้นอย่างน้อยเจ็ดเท่าของปริมาณเงินที่ผมใส่เข้าไป และมันก็ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนของผมสูงขึ้นมาเป็นพันเปอร์เซนต์

ปัจจุบันผมทำได้กำไรแค่สองหรือสามเท่า หุ้นหลายตัวที่ซื้อมาเพิ่มผมกำไรมากกว่าขาดทุน มีอยู่สองครั้งผมขาดทุนมากกว่า 50% ครับ และอีกหลายตัวผมขาดทุน 10% ผมถือว่านั่นคือต้นทุนของการทำธุรกิจ แต่หุ้นหลายตัวที่ลงมาไม่เยอะ ผมซื้อเพิ่ม และมันก็ตอบแทนผมมหาศาล

ความพยายามในการที่คุณจะต้องหาหุ้นคล้าย ๆ กับหุ้น 14 ตัวที่ผมทำกำไรนั้นเป็นสิ่งจำเป็นครับ
หุ้นทั้ง 14 ตัวผมถือมันระหว่าง 8-9 ปี เอ่อ ตัวที่มากที่สุดผมถือมันมา 30 ปี ผมไม่ต้องการเสียเวลาไปกับการได้กำไรน้อยเมื่อผมต้องรอคอยแล้วต้องได้กำไรที่คุ้มค่าที่มากมหาศาล

ถาม ท่านใช้คุณสมบัติอะไรในการเลือกหุ้นครับ?

ฟิชเชอร์: หุ้นเหล่านั้นต้องแข่งขันทางด้านต้นทุนได้คือดำเนินงานด้วยต้นทุนต่ำ ต้องเป็นเบอร์หนึ่งของธุรกิจ ต้องสามารถแสดงตัวชี้วัดที่โดดเด่นบนบรรทัดฐานของผม นั่นคือผมมักจะเปรียบเทียบกับคู่แข่งในญี่ปุ่น ปัจจุบันญี่ปุ่นมีสินค้าใหม่ที่โดดเด่นมานำเสนอ ผู้บริหารก็มีความสามารถสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่สำคัญเค้าสามารถรักษามาร์จิ้นในระดับสูง

ถาม คุณให้ความสำคัญกับผู้บริหารอย่างมากใช่มั๊ยครับ?

ฟิชเชอร์: การรู้จักผู้บริหารเหมือนการแต่งงานครับ คุณไม่มีวันรู้จักสุภาพสตรีจนกว่าคุณจะใช้ชีวิตอยู่กับเธอ ถ้าคุณไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับผู้บริหารคุณไม่มีวันรู้จักธุรกิจเช่นเดียวกัน

ลองค้นหาบริษัทที่คุณชอบ สิ่งหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจคือลองถามจากลูกค้าที่ทะเลาะหรือเลิกใช้บริการของเค้า

ผมมีความสนใจในอุตสาหกรรมโรงงาน หรือเกี่ยวข้องกับการผลิต ผมเกลียดคำโฆษณาเกินจริง ผมชอบโรงงานที่มีการค้นคว้าวิจัย ค้นพบศาสตร์บริสุทธ์ ในธุรกิจอื่นเช่น รีเทลหรือไฟแนนซ์ ก็มีโอกาสที่ดี แต่ผมไม่ค่อยมีความรู้นะ ผมว่านักลงทุนที่พยายามจะลงทุนมันไปทุกอย่าง นับเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของการลงทุนนะครับ

ถาม ท่านกำลังมองหาหุ้นใหม่ ๆ ด้วยรึเปล่าครับ?

ฟิชเชอร์: ผมใช้เวลาเฝ้าจับตามองสถานการณ์เศรษฐกิจมากกว่าครับ ผมไม่ได้กระตือรือร้นที่จะเข้าไปซื้อในวันนี้ ภายในภาวะบีบคั้นของสถานการณ์หุ้นดิ่ง ผมไม่อยากรีบเข้าไปซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหุ้นที่ผมไม่คุ้นเคย

ถาม ท่านครับหุ้น 9 ตัวของท่านมีอะไรบ้างครับ?

ฟิชเชอร์: ไอ้หุ้นตัวเล็ก ๆ 5 ตัว นั่นผมขอไม่บอกนะ ผมจะบอกหุ้นที่ผมถือเยอะ ๆ 2 ใน 4 ตัวให้ นั่นก็คือ Motorola กับ Raychem ตัวที่สามที่ผมถือเยอะมันเป็น Small-cap ครับ ซึ่งนักลงทุนคนอื่น ๆ ก็พยายามซื้อสะสมอยู่มาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วครับ แต่สภาพคล่องมันน้อย ถ้าผมบอกชื่อมันออกไปลงนิตยสารฟอร์ป มันคงขึ้นแบบวูบวาบ แต่ถ้าเกิดเมื่อใดตัวเลขรายได้ไม่เป็นดังคาดหวัง มันก็คงจะวูบลง ผมไม่อยากให้เป็นเช่นนั้นครับ

ส่วนตัวที่สี่นี่มีผลงานสุดยอดมากนะครับเค้ามี การประสานกำลังของสินค้าที่เค้ามีอยู่ต่อยอดได้อย่างดีทีเดียว แต่ตอนนี้เค้ากำลังทำสิ่งที่สำคัญอยู่สิ่งหนึ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับบริษัทปัจจุบัน ซึ่ง ถ้ามันสำเร็จก็ดีไป แต่ก็มีความเสี่ยงกับราคาหุ้น และอีกอย่างปัจจุบันราคาก็ขึ้นมาสูงแล้ว ผมขอไม่บอกดีกว่าครับ

สำหรับโมโตโรล่านั้น วอลล์สตรีทเพิ่งจะค้นเจอไม่นานนี้ครับว่าผู้บริหารเค้ามีความเก่งอย่างไร? เร็ว ๆ นี้เมื่อธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ล่มสลาย มีเพียงบริษัทสำคัญ ๆ ที่ได้กำไรปานกลางแต่ก็ไม่ได้มากมายครับ แต่บริษัทอื่นนี่สิครับถึงกับล้มไปเลยและมีสามบริษัทที่ขาดทุนอย่างหนัก ประเด็นนี้นักลงทุนในวอลล์ตรีทก็เลยหันมาให้ความสนใจ แต่ไม่ใช่ว่านักลงทุนหันมาสนใจเฉพาะกำไรอย่างเดียวแล้วแปลว่าบริษัทมันดีนะครับ

วอลล์สตรีทควรจะให้ความสำคัญกับความเข้มงวดในการควบคุมกระบวนการผลิต คุณภาพการผลิตโดยใช้หลักสถิติ ลดเวลาการผลิต และนั่นจะทำให้สินค้าคงคลังลดลง ต้นทุนการผลิตลดลงครับ

โมโตโรล่าเป็นบริษัทที่ดำเนินงานได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมในการดำเนินการ เหตุผลหนึ่งก็คือในธุรกิจเซมิคอน เราควรจะเลือกทำเฉพาะทางที่เรามีความสามารถจริง ๆ มากกว่าจะทำเกลื่อนไปหมด และนั่นเราจะวิ่งไปเจอปัญหา และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือวิสัยทัศน์อันกว้างไกลและคุณธรรมของ บ๊อบ กาลวิน แชร์แมน

ตอนนี้โมโตโรล่าไม่ใช่ธุรกิจเลหลังที่พร้อมจะขายถูก ๆ แล้วนะครับ แต่เตรียมพร้อมที่จะทะยานทีเดียว

ในกรณีของ Raychem สถานการณ์มันเป็นอีกแบบนึง (ยอดขาย 944 ล้านเหรียญ, Raychem เป็นผู้ผลิต พลาสติกเกรดสูง) หลายปีก่อนผู้บริหารเล็งเห็นว่ากระบวนการผลิตแบบเก่าไม่สามารถรองรับการขยายในอัตรา 20-25% ต่อปี เพราะมันเป็นกระบวนการผลิตเริ่มแรกตั้งแต่ตั้งโรงงาน Raychen เริ่มต้นกระบวนการผลิตแบบทันสมัยด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่เค้าก็ยังพลาดเรื่องการประมาณการครับว่าอีกกี่ปีมันจะคืนทุน

หลายปีต่อมา กระบวนการผลิตที่ทันสมัยนี้เริ่มออกสู่ตลาด ผู้คนเริ่มกลับมาสนใจในอัตราการเจริญเติบโตของบริษัทโดยดูจากค่าใช้จ่าย R&D จริง ๆ แล้วการนำสินค้าออกสู่ตลาดแม้ว่า R&D จะสำคัญแต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าแผนกการตลาดครับ

ความจริงที่ว่าสินค้าใหม่ที่ออกสู่ตลาด มักจะถูกจัด ถูกมองรวม ๆ กัน สร้างรายได้คงที่มาหลายปี สำหรับบริษัทที่เติบโตคงที่มาหลายปีจะถูกละเลยจากวอลล์สตรีทเพราะพวกเค้ามองกันแค่สั้น ๆ หลายรอบของการเติบโต จนกระทั่งความสงสัยเหล่านี้ถูกสะสมขึ้น สะสมขึ้น บริษัทนี้โตจริง ๆ รึเปล่า

สำหรับผมนี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของ Growth Company แต่ซื้อขายกันที่ P/E ที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่สะท้อนต่อมูลค่าของกิจการ

ถาม นอกจากผู้บริหารที่ดีแล้วท่านวัดจากอะไรอีกครับ?

ฟิชเชอร์: เมื่อผมมีการถกประเด็นเรื่องหุ้นกับลูกค้าผมนะครับว่าผมชอบหรือไม่ชอบหุ้นตัวนี้ แล้วลูกค้าผมบอกว่า “โอเค ถ้าคุณพูดแบบนั้น ก็ลุยเลย” แบบนี้ผมค่อนข้างจะประสบความสำเร็จครับ

แต่ผมบอกว่า เราจะซื้อหุ้นตัวนี้สัก 10,000 หุ้นแล้วลูกค้าผมบอกว่า อัดไป 50,000 หุ้นเลยสิ แบบนี้ผมค่อนข้างรู้สึกว่า สายไปเสียแล้วที่จะซื้อมัน

หรือบางทีนะครับเวลาที่ผมไปประชุมพวกหุ้นเทคโนโลยี และเห็นคนมุงดูอยู่เต็มห้อง ผมค่อนข้างมั่นใจนะครับว่าอย่าไปซื้อหุ้นตัวนั้นเลยครับ

ถาม คุณเป็นนักลงทุนสวนกระแสรึเปล่าครับ?

ฟิชเชอร์: การประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่การเป็นนักลงทุนสวนกระแส 100% เมื่อกลุ่มรถยนต์มีการวิวัฒนาการมาแทนระบบขับเคลื่อนของรถรางในเมือง นักสวนกระแสบางคนก็แห่เข้าไปซื้อหุ้นของรถรางตกยุค ตลกน่ะ คุณอย่าไปทำแบบนั้น

คุณควรจะวิเคราะห์ก่อนว่าการขายหรือการตกลงมาของราคาหุ้นมีเหตุผลอะไร และนั่นจะนำมาซึ่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

ถาม บทเรียนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของนักลงทุนคืออะไรครับท่าน?

ฟิชเชอร์: ภายใต้แรงกดดันความตื่นตระหนกนักลงทุนหลายคนพยายามที่จะซื้อวันนี้และขายในวันรุ่งขึ้น อย่าไปทำแบบนั้นเลยครับมันไม่ใช่ความสำเร็จที่ยังยืนได้มาก็เล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้าคุณเป็น “นักลงทุนระยะยาว” เหมือนดังที่ผมปฏิบัติอยู่ทุกขณะจิต คุณจะได้รับความสำเร็จมากมายมหาศาล 

ลูกค้าในระยะต้นคนหนึ่งของผมเคยให้ข้อสังเกตว่า “อาจารย์ครับขายทำกำไรไม่ได้ทำให้ใครเจ๊งนะครับ”

มันก็จริงอยู่แต่นั่นหมายความว่าคุณต้องขายทำกำไรให้ได้ทุกครั้งนะทุกอย่างนะ วิธีคิดแบบนี้จะไม่อนุญาตให้คุณผิดพลาดเลยแม้แต่ครั้งเดียวตลอดระยะเวลาในการลงทุน

เรื่องน่าขันก็คือ ผมเจอนักลงทุนหลายคนปากก็บอกว่าตัวเองเป็นนักลงทุนระยะยาวแต่ก็มีความสุขกับการซื้อ ๆ ขาย ๆ ทุกวัน

หลายปีก่อนผมเป็นที่ปรึกษาการลงทุนให้กับทรัสต์แห่งหนึ่ง ผมซื้อหุ้นจำนวนหนึ่งของ Texas Instument ที่ 14 เหรียญ (ผมคิดว่าหุ้นตัวนี้มีการ Split ออกที่ประมาณ 15 เท่า) และเมื่อหุ้นราคาทะยานไปถึง 28 เหรียญแรงกดดันเริ่มมามหาศาล ทำไมไม่ขายออกไปสักครึ่งนึงก่อน ผมยืนหยัดถือไปจนถึง 35 เหรียญ ก็โดนอีก ฟิล เชื่อผมขายมันออกก่อนครึ่งนึงแล้วค่อยซื้อคืน”

 น่าขำ” ขายออกก่อนอ่อนซื้อคืน คำ ๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำที่ดีหรือห่วย มันคือจิตวิทยาการลงทุนก็แค่นั้น มันบอกไม่ได้หรอกครับว่าคุณจะถูกหรือคุณจะผิด

และแล้วหุ้นก็วิ่งไปสูงกว่า 250 เหรียญภายใน 2-3 ปีหลังจากนั้นก็มีการแตกหุ้นในช่วงระหว่างปี 50 แต่อย่างไรก็ตามมันไม่เคยตกลงไปที่ 35 เหรียญ อีกเลย

ถาม อะไรทำให้คุณมองข้ามการลงทุนระยะสั้นอย่างสิ้นเชิงครับ?

ฟิชเชอร์: ช่วงปี 1930 ผมเริ่มทำงานที่บริษัท FMC ครับเป็นบริษัทผลิตเครื่องจักรที่ใช้ทำอาหารอย่างไรก็ตามสองในสามของธุรกิจของบริษัทคือขายผักผลไม้กระป๋อง ผมเริ่มเรียนรู้ในการวิเคราะห์หุ้นอาหารกระป๋อง

หลายต่อหลายครั้ง ประมาณสามครั้งมั๊งครับในช่วงทศวรรษสามสิบ ผมซื้อหุ้นของบริษัท California Packing ก็คือบริษัท Del Monte line ในราคาที่ค่อนข้างต่ำ เวลาที่ภาพรวมของธุรกิจอาหารไม่ดีแล้วก็ขายไปในช่วงที่ดี 

ในระหว่างเดียวกันผมซื้อหุ้นของบริษัท FMC (Food Machinery) ให้ลูกค้าของผมมากเท่าที่บริษัท Food Machinery ยอมขายให้

ในปี 1940-1941 ผมทบทวนเรื่องการซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้น California Packing ใช้เวลามากกว่าที่ผมเฝ้าดู Food Machinery และผลประกอบการของ Food Machinery ก็มากกว่าการซื้อ ๆ ขาย ๆ California Packing มากครับ บทเรียนนี้จึงนำให้ผมเลิกเชื่อเรื่อง ซื้อถูกขายแพง ทำกำไรก่อนแล้วเข้าไปใหม่ มันไม่ยั่งยืนครับ

ถาม วอร์เรน บัฟเฟตต์ กล่าวว่าเค้าเป็น 85% ของ เบน เกรแฮม และ 15% ของ ฟิล ฟิชเชอร์ ท่านว่าอะไรเป็นความแตกต่างระหว่าง ค่ายเกรแฮม กับ ค่ายฟิชเชอร์ครับ?

ฟิชเชอร์: ในการวิเคราะห์พื้นฐานของกิจการมีอยู่สองหลักการครับ หลักการของอาจารย์เบนจะตั้งการ์ดสูง ใช้การวิเคราะห์การเงิน หาหุ้นราคาถูกมากและหาหุ้นที่มันยากที่จะลงไปได้อีกแล้ว และในที่สุดมูลค่าของมันก็จะแสดงออกมา

อีกแนวทางคือแนวทางของผม คือหาหุ้นดี และถ้าคุณจ่ายมันในราคาไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับสิ่งซึ่งมันมีโอกาสที่จะโต โต โต โตอย่างมาก โอกาสเหล่านี้มันจะสร้างผลตอบแทนค่อนข้างเร็วในเวลาที่สั้นกว่า – ถึงแม้นะครับบางทีในช่วงต้นของการลงทุนอาจต้องใช้เวลาหลายปี และแน่นอนคุณเองก็อาจจะพลาดในการเลือกหุ้นคือคุณคิดว่ามันจะโตแต่มันไม่โต แต่ถ้าสต๊อกมหัศจรรย์ที่คุณมีอยู่ในมือสำแดงผลมันจะเคลื่อนไหวอย่างมหาศาลในเวลารวดเร็ว

ข้อเสียของอาจารย์เบนคืออีกอย่างหนึ่งก็คือสูตรการคำนวณที่ตายตัวและทุกคนก็รู้จักมันดีอย่างแจ่มชัด ทุกคนก็เอามันไปใช้เหมือน ๆ กันน่ะครับ ไม่ได้มีอะไรพิเศษ

คือผมไม่ได้หมายความว่ามันไม่ดีนะครับ แต่ผมคิดว่าผมเองก็หยิ่งในหลักการของผม ผมเริ่มต้นแนวคิดนี้ก่อนที่ใครต่อใครจะรู้จักคำว่า Growth Stock ด้วยซ้ำไป

ถาม คุณมีลูกค้าเยอะมั๊ยครับ?

ฟิชเชอร์: มัจจุราชก็เป็นหนึ่งในนั้นมั๊งครับ ผมมีลูกค้าอยู่เก้ารายครับในปัจจุบัน ผมอายุ 80 แล้วถ้าลูกค้ารายไหนของผมกังวลว่า เราจะลงทุนดีมั๊ยกับคนที่เค้าคิดว่าอาจจะอายุสั้นกว่าการลงทุนของเค้าเสียอีก ผมอยากรู้จังครับว่าใครคิดเช่นนั้นบ้าง

แนวคิดก็เบสิกนะครับ หุ้นที่ผมเลือกเข้ามาในกองทุนก็มีลักษณะเหมือนกับที่ผมอ้างถึงในบทสัมภาษณ์นี้แหละครับ ถ้ามันจะดิ่งลงมา ไม่เร็วก็ช้านะครับหุ้นทุกตัวก็คงต้องเป็นอย่างนั้น แต่ผมคิดว่าอย่างน้อย ๆ ก็คงอีกห้าปีครับ ผมหมายความว่าถ้าผมเสียชีวิตไปพรุ่งนี้ทีมงานของผมมีเวลาอีกมากครับว่าหุ้นที่อยู่ในกองจะย่ำแย่ อย่างน้อยนับจากวันนี้ไปพวกหุ้นเหล่านี้ก็ยังสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่อง

ถาม ฟังเหมือนท่านยังไม่อยากเกษียณครับ?

ฟิชเชอร์: ผมอยากจะขัดเกลาเหล่าคนโง่เขลาที่อยากเกษียณตอนอายุ 65 ซักครึ่งชั่วโมงครับ ผมคิดว่าผมทำผลงานได้ดีกว่าห้าปีก่อนเสียอีก ผมลึกซึ้งที่ผมกลั่นจากความผิดพลาดในอดีตและการแก้ไขตัวเองของผมดำเนินไปอย่างไม่หยุด

ผมเห็นคนแก่จำนวนมากครับที่แก่เกินไปสำหรับการทำงาน ถ้าผมแก่เกินความรับผิดชอบผมเลิกแน่ครับ แต่ถ้าเหตุการณ์อย่างนั้นไม่เกิดขึ้นผมก็ยังจะทำงานต่อไป

ถาม สำหรับผู้อ่านที่ไม่ได้เลือกท่านเป็นผู้บริหารเงินของเค้า ท่านมีคำแนะนำให้เค้าเลือกผู้จัดการกองทุนอย่างไรครับ?

ฟิชเชอร์: เราต้องขอดู Transcript ของการดำเนินงาน ถ้าขาดทุนในจำนวนไม่มากและลดการขาดทุนได้อย่างรวดเร็วในขณะที่ปล่อยให้กำไรงอกเงยไปเราให้เหรียญทองเค้าเลย แต่ถ้าเค้าทำตรงข้างเอากำไรระยะสั้นและปล่อยให้ขาดทุนบานปลาย อย่าไปเข้าใกล้เค้าเด็ดขาด

.............................

บทสรุป โดย Nevercry.boy


หลังจากที่ผมได้อ่านงานเขียนของฟิชเชอร์ ผมต้องกลับไปอ่านอีกหลายครั้งและหลายรอบครับ เพราะฟิชเชอร์ทั้ง พ่อและลูกชาย (เคน ฟิชเชอร์) เป็นนักภาษา คือสำบัดสำนวนครับ คล้าย ๆ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เช่นกัน ผมคิดว่าความลึกซึ้งของฟิชเชอร์นั้น แปลตรงตัวไม่ได้คือต้องใช้การตีความ แต่เนื่องจากอุปสรรคทางด้านภาษา และความลึกซึ้งของความคิดแห่งการลงทุน ผมเชื่อว่าหากเราเงี่ยหูฟังสิ่งที่ฟิชเชอร์พูดไว้ให้รอบคอบเราจะได้หลายสิ่งหลายอย่างต่อยอดความคิดเราอย่างสูงครับ



ข้อคิดดี ๆ ในสัมภาษณ์นี้นั้นมีหลายอย่าง 

1 ไม่มีใครโคตรอัจฉริยะถึงขนาดคาดเดาตลาดได้ และถึงทำได้ ก็ไม่น่าทำเท่าไร เพราะช่วงเวลาที่นั่งรอ จะทำให้เราเฉื่อยและไม่มีประสิทธิภาพ 


2 การเลือกหุ้น Growth Stock ต้องมีความสามารถในการแข่งขันสูง เป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจ มีตัวชี้วัดที่เจ๋งกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน และผู้บริหารที่มีความสามารถสูง


3 การดูผู้บริหารราวกับจะแต่งงานกัน 

4 ขายออกก่อน-อ่อนซื้อคืน สำหรับฟิชเชอร์มองว่าเป็นเพียงจิตวิทยาการลงทุนเท่านั้น ไม่ได้มีประโยชน์กับการลงทุน


5 การถือหุ้นยาว ดีกว่าการซื้อ ๆ ขาย ๆ


 ผมกำลังเตรียมงานเขียนกึ่ง วิพากษ์แนวคิดของฟิชเชอร์ ในแง่มุมของผมซึ่งนำมาประยุกต์ใช้กับตลาดทุนถึงหลาย ๆ เทคนิคที่ฟิชเชอร์ใช้ เร็ว ๆ นี้คงได้เขียนออกมา 

ก่อนจบ ผมคิดว่าผมคงเข้ามาเกลาภาษาในบทความนี้เรื่อย ๆ ถ้ามีเวลาให้ภาษาสวยขึ้นครับ



1 ความคิดเห็น:

  1. ชอบเข้ามาอ่านอยู่เรื่อยๆ ครับ ขอบคุณสำหรับบทความ

    ตอบลบ